สถานที่ที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดอย่างบ้าน อาจจะเป็นที่ที่อันตรายที่สุดก็ได้ หากว่าบ้านเราเป็นที่สะสมของฝุ่น! ดังนั้น ใครที่มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจบ่อย ๆ มาเช็กกันดีกว่าว่า สาเหตุมาจากการที่เราแพ้ฝุ่นในห้องหรือเปล่า? แล้วควรมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรดี ไปดูกันเลย
ฝุ่นในห้องมาจากไหน?
เคยสงสัยไหมว่าในห้องที่ปิดหน้าต่าง ทำไมถึงมีฝุ่นได้! ฝุ่นภายในบ้านมาจากไหน ทำไมถึงกำจัดไปได้ไม่หมดเสียที ทั้ง ๆ ที่เราก็ดูดฝุ่นทุกวัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าฝุ่นเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็ก บางครั้งเล็กกว่าที่ตาของเราจะสังเกตเห็นได้ และฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ สามารถติดตามเสื้อผ้าและสิ่งของได้ และยังสามารถเล็ดลอดผ่านซอกเล็ก ๆ ได้โดยที่เราคาดไม่ถึง โดยฝุ่นในห้องมักจะมีที่มาดังต่อไปนี้
- เครื่องปรับอากาศ พัดลม และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะหากไม่ได้ทำความสะอาดเป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้ปริมาณฝุ่นยิ่งมากขึ้น และเมื่อเปิดใช้งานฝุ่นก็จะยิ่งฟุ้งกระจายไปในอากาศมากขึ้น
- เสื้อผ้าที่เราใส่ เวลาที่เราไปข้างนอก แล้วกลับเข้ามาในบ้าน เสื้อผ้าของเราได้สะสมฝุ่นจำนวนมากโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เมื่อเรากลับเข้าบ้านก็เท่ากับการนำฝุ่นเข้ามาในบ้านด้วยนั่นเอง
- ลอยมาตามอากาศ ฝุ่นมีขนาดเล็กและเบามาก และเมื่อลมพัดฝุ่นจำนวนมากก็จะลอยฟุ้งในอากาศ และพัดพาเข้ามาทางหน้าต่าง ประตู หรือว่าตามซอกประตูต่าง ๆ และเล็ดลอดเข้ามาสะสมในห้อง
- เศษผิวหนังของเรา แม้ว่าเราไม่ได้ออกไปไหน ตัวเราเองก็สามารถผลิตฝุ่นขนาดเล็กที่มีที่มาจากเศษผิวหนังของเราที่หลุดลอกตามธรรมชาติ ซึ่งมีขนาดเล็กและกลายเป็นฝุ่นสะสมในบ้านได้
- สัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ฝุ่นละอองยังมาจากเศษขนและเศษผิวหนังของสัตว์เลี้ยงที่ผลัดขนและผิวหนังตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับคน
- ผ้าม่าน พรม โซฟา เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นภายในบ้าน หากไม่ทำความสะอาด ก็อาจทำให้เรามีอาการแพ้ฝุ่นในห้องได้
อันตรายจากฝุ่นในบ้าน
การทำความสะอาดและกำจัดฝุ่นในบ้านมีความสำคัญมาก เพราะหากเราปล่อยให้บ้านมีฝุ่นสะสมอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ฝุ่นในห้อง จนเกิดการระคายเคือง และอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้
โรคภูมิแพ้
ฝุ่น ไรฝุ่น ขน และรังแคของสัตว์เลี้ยง เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อาจเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่าย ผ่านการหายใจ ซึ่งอาการแพ้ฝุ่น เรามักจะทำให้เรามีอาการคันจมูก คันตา มีน้ำมูกตามมา หรือบางคนอาจมีอาการปวดหัว มีเสมหะในคอ ตาแดง น้ำตาไหล หายใจจะมีเสียงวืด หรือมีผื่นขึ้นตามร่างกาย
ดังนั้น หากว่าใครแพ้ฝุ่นและมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้เราทำความสะอาดบ้านเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณ พรม ผ้าม่าน โซฟา เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
โรคหลอดลมอักเสบ
โรคหลอดลมอักเสบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุมาจากฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งแม้ว่าโรคหลอดลมอักเสบอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างการติดเชื้อทางเดินหายใจ และการระคายเคืองจากน้ำย่อยของผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน แต่ปัจจุบันด้วยมลภาวะที่เพิ่มสูงขึ้น ฝุ่นละอองก็เป็นตัวการที่ทำให้หลอดลมอักเสบมากเป็นอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน
อาการของหลอดลมอักเสบอาจจะคล้ายกับอาการแพ้ฝุ่น โดยจะมีอาการไอนาน และมักจะไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวติดคอ บางรายมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายร่วมด้วย ควรเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
โรคหอบหืด
โรคหอบหืด เป็นความผิดปกติของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อย่างฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็ง ทำให้หายใจลำบาก และเหนื่อยหอบ ซึ่งอาการมีตั้งแต่ไอเล็กน้อย ไปจนถึงอาการหอบหนัก ๆ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
ฝุ่นอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุของการเป็นโรคหอบหืดโดยตรง แต่ฝุ่นก็เป็นตัวกระตุ้นอาการและก่อให้เกิดอันตราย หรือมีอาการเหมือนกับการแพ้ฝุ่นในห้องได้
นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้ว ฝุ่นขนาดเล็กมาก ๆ อย่าง PM 2.5 ก็สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้เช่นเดียวกัน การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อยู่นอกบ้านเราจึงควรใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น แต่หากอยู่ในบ้านเราก็เสี่ยงต่อการแพ้ฝุ่นในห้องเช่นเดียวกัน ขอแนะนำให้คุณเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศที่ป้องกันละอองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากเสียงรบกวนจาก Wells สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 065-695-6525
ข้อมูลอ้างอิง
- โรคหอบหืด. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/asthma
- หลอดลมอักเสบ พบได้ทุกช่วงอายุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/หลอดลมอักเสบพบได้ทุกช่วงอายุ#:~:text=หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง%20(Chronic,นาน%20ไอเสมหะมาก%20เสมหะ
- 6 โรคยอดฮิตที่มาพร้อมกับฝุ่นพิษ. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january-2019/6-air-pollution
- สาเหตุของโรคแพ้อากาศ ตอนที่1. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=197